แพทย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชี้ 5 ข้อเสี่ยงซึมเศร้าหลังคลอด

แพทย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชี้ 5 ข้อเสี่ยงซึมเศร้าหลังคลอด

 

รศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ สมประสิทธิ์ อาจารย์ประจำหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์

ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า

ภาวะการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์หลังคลอด (Postpartum Blue) และภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

(Postpartum Depression) สามารถเกิดขึ้นได้หลังการคลอดบุตร โดยภาวะการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์หลังคลอดเป็นภาวะที่พบเจอได้ประมาณ

40-50% ของผู้หญิงหลังคลอด โดยอาจเกิดเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่เกินหนึ่งอาทิตย์ และจะสามารถหายได้เอง

ส่วนภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจะมีอาการรุนแรงกว่า และพบได้น้อยกว่าประมาณ 15-20% ของผู้หญิงหลังคลอด

ซึ่งทั้ง 2 อาการนี้สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนที่ลดลงอย่างรวดเร็ว

สิ่งที่คนรอบข้างต้องสังเกตเพื่อเฝ้าระวังมี 5 ข้อสำคัญ ได้แก่

1.นอนน้อย นอนไม่หลับ

2.นอนมากเกินไป

3.การรับประทานอาหารเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

4.การแยกตัวเอง เก็บตัวเอง แอบร้องไห้ 

5.ปฏิเสธการเลี้ยงดูบุตร

รศ.พญ.จรินทิพย์กล่าวต่อว่า คนในครอบครัวต้องช่วยกันประคับประคองและช่วยดูแลบุตร เพื่อให้หญิงหลังคลอดพักผ่อน และไม่อยู่ในสถานการณ์ที่เครียดต่อเนื่องกัน รวมถึงควรสังเกตพฤติกรรมของหญิงหลังคลอดว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งหากสังเกตพบควรจะต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัว จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา เพราะบางรายมีอาการรุนแรงจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอด นำไปสู่ความต้องการที่จะทำร้ายตัวเอง และยังส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเลี้ยงดูบุตรด้วย.